INTERREGNUM 14 | ส.ว. มีไว้ทำไม? (5)
The Progressive Podcast - Un podcast de The Progressive Podcast

Catégories:
[ รายการ Interregnum ซีรีส์ #สวมีไว้ทำไม ตอนที่ 5 : ประวัติวุฒิสภาไทยช่วงปี 2490-2500 ] ในตอนนี้ ปิยบุตร แสงกนกกุล จะพาทุกท่านไปค้นพบคำตอบว่าเหตุใดในช่วงเวลา 10 ปี ระหว่าง 2490-2500 วุฒิสภาจึงกลายเป็นสถาบันการเมืองที่สำคัญของฝ่ายกษัตริย์นิยมและอนุรักษ์นิยม การรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ คือ หมุดหมายสำคัญที่สุดของการทำลายความคิด สถาบันการเมือง และรัฐธรรมนูญแบบคณะราษฎร เป็นการรัฐประหารที่ยุติเจตนารมณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และเปิดโอกาสให้ฝ่ายกษัตริย์นิยมและอนุรักษ์นิยมกลับมามีอำนาจอีกครั้ง การรัฐประหารในครั้งนี้ได้ทำการฉีกรัฐธรรมนูญ 2489 ทิ้ง ล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญ 2490 ใช้แทนที่ และผลแห่งการรัฐประหารทำให้ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยออกจากประเทศไทยและไม่ได้กลับมาอีกเลย รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2490 คือ เครื่องมือสำคัญของการฟื้นอำนาจของฝ่ายกษัตริย์นิยมและอนุรักษ์นิยมให้กลับมามีบทบาทในการเมืองไทย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สร้างสถาบันการเมืองหลากหลายอันที่ยังหลงเหลือเป็นมรดกตกทอดจนถึงปัจจุบัน อาทิ อภิรัฐมนตรี หรือ องคมนตรี พร้อมทั้งได้จัดการเปลี่ยนแปลง “พฤฒิสภา” ของรัฐธรรมนูญ 2489 ที่มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม ให้กลายเป็น “วุฒิสภา” ที่มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ทั้งหมด โดย รัฐธรรมนูญ 2490 กำหนดให้มีวุฒิสภา 100 คน ข้าราชการประจำ ทหาร ตำรวจ เป็นสมาชิกวุฒิสภาได้พร้อมๆ กับการเป็นข้าราชการ เป็นการเปิดโอกาสให้คนที่เคยทำงานเป็นข้าราชการขั้นผู้ใหญ่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กลับเข้ามาทำหน้าที่ในวุฒิสภาด้วย ต่อมามีการจัดทำรัฐธรรมนูญถาวร 2492 ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญส่วนมากสนับสนุนให้มี 2 สภา และอ้างว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะมีสภาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จึงต้องมีสภาที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง แสดงให้เห็นถึงความยอกย้อนของฝ่ายอนุรักษ์นิยมว่าในห้วงยามที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่มีอำนาจก็เรียกร้องว่าสภาที่มาจากการแต่งตั้งไม่ยุติธรรม-ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย แต่เมื่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมขึ้นมามีอำนาจ ก็บอกว่าให้มีสภาหนึ่งเลือกตั้งโดยตรง อีกสภาหนึ่งแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ เพราะต้องการเอาคนของฝ่ายตนเองเข้าไปทำหน้าที่ ในขณะนั้นมีการอภิปรายสนับสนุนและคัดค้านทั้งในสภาร่างรัฐธรรมนูญว่าพระมหากษัตริย์ควรเป็นผู้แต่งตั้งวุฒิสภาหรือไม่ สุดท้ายเสียงข้างมากในสภาร่างรัฐธรรมนูญเห็นวควรให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งคัดเลือกโดยพระมหากษัตริย์ จนวุฒิสภาได้กลายเป็น “ฐานที่มั่น” สำคัญของฝ่ายอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับตอบโต้ถ่วงดุลกับรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตัดสินใจรัฐประหารตัวเองในปี 2494 เพื่อกำจัดรัฐธรรมนูญ 2492 ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของตนเองทิ้ง และนำรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 กลับมาใช้ใหม่ ยกเลิกวุฒิสภาทิ้ง และกลับไปใช้สภาผู้แทนราษฏรที่แบ่ง ส.ส. เป็นสองประเภท จนกระทั่งถูกรัฐประหารโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำมาสู่การฟื้นฟูระบบกษัตริย์นิยม ปกครองประเทศโดยปราศจากรัฐธรรมนูญ ใช้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ซึ่งให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แก่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ #PokCast #สวมีไว้ทําไม #คณะก้าวหน้า #ปิยบุตร #Interregnum